การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ไปทั่วทั้งโลกตลอดระยะเวลามากกว่า 1 ปี โลกได้รู้ซึ้งถึงมหันตภัยอันใหญ่หลวงต่อมวลมนุษยชาติ ต่อจากนี้มนุษย์ต้องปรับตัวอย่างขนานใหญ่เพื่อเอาตัวรอด ระบบอัตโนมัติถือเป็นหนทางรอดทางหนึ่ง เนื่องจากเชื้อโรคไม่สามารถทำให้เครื่องจักรล้มป่วยได้ ดังนั้นถ้าวันหนึ่งมนุษย์เราสามารถสร้างเครื่องจักรที่ทำงานได้เองโดยอัตโนมัติโดยพึ่งพามนุษย์ให้น้อยที่สุด เราจะมีโรงงานที่ผลิตสินค้าต่างๆ เองอัตโนมัติ ผลิตอาหาร ผลิตยารักษาโรคเอง ถึงเวลานั้นมนุษย์แต่ละคนก็จะสามารถทำงานอย่างปลอดภัยอยู่ที่บ้านและสามารถก้าวข้ามภัยพิบัตินี้ไปได้

   การอุบัติขึ้นของ Covid-19 กลายเป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติของโลกยิ่งต้องรีบพัฒนาไปสู่ Industry 4.0 ให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นระบบการผลิตอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ ที่ไม่ใช้มนุษย์เลย(หรือใช้ให้น้อยที่สุด) เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา Human Error ในกระบวนการผลิต ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล และนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิตในที่สุด

   สำหรับประเทศไทยนั้นยังมีความล้าหลังในเทคโนโลยีการผลิตอย่างมาก โรงงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะ SMEs ยังใช้เทคโนโลยีที่เก่าล้าสมัย ดังนั้นอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องรีบปรับเปลี่ยนให้ทันก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป จึงเป็นความเร่งด่วนที่ สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยพัฒนา และวงการอุตสาหกรรมไทย จะต้องผนึกกำลังเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้าทันสมัยไปสู่ Industry 4.0 ขึ้นมาได้เอง มีแพลตฟอร์มที่จะช่วยพัฒนาระบบอัตโนมัติที่โรงงานผู้ผลิตต่างๆ โดยเฉพาะ SMEs สามารถเข้าถึงได้ และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้โดยง่ายและในราคาประหยัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งซอฟต์แวร์ SCADA ซึ่งถือว่าเป็นซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มที่สำคัญที่สุดของ Industry 4.0 จึงเป็นที่มาของโครงการนี้

   โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มเปิดสเกด้าไทยสำหรับอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีมุ่งวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์แพลตฟอร์ม SCADA ที่เป็นระบบเปิด เพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนาต่อยอด ขยายผล และนำไปติดตั้งใช้งานอย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และเป็นประโยชน์กับชุมชนนักพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ Industry 4.0 ของไทย ซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มที่วิจัยและพัฒนาขึ้นมานี้มีชื่อว่า “Thai Open SCADA” โดยพัฒนาต่อยอดมาจาก Web SCADA ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ต้นแบบ SCADA ขั้นพื้นฐาน

   โครงการนี้ได้มีการวิจัยพัฒนาซอฟต์แวร์แพลตฟอร์ม SCADA สำหรับ Industry 4.0 ขึ้นโดยเริ่มจากศึกษาเปรียบเทียบจากผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศ การรวบรวม Requirement จากบริษัท Consortium ผู้ร่วมให้ทุนวิจัย การออกแบบซอฟต์แวร์ SCADA ขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยพื้นฐานการพัฒนา Web SCADA โดยอาศัยหลักการวิเคราะห์ออกแบบเชิง Object-Oriented ทั้งหมด และพัฒนาด้วยแพลตฟอร์มเว็บ โดยที่ฝั่ง Server ใช้ Django Web Framework ที่เป็นภาษา Python ในการพัฒนา และฝั่ง Web Client ใช้ React Framework ที่เป็นภาษา JavaScript ร่วมกับ HTML โดยทั้งหมดเป็นซอฟต์แวร์ Open Source ทั้งสิ้น

   การพัฒนาซอฟต์แวร์ฝั่ง Server ประกอบด้วยการพัฒนาส่วน (1) SCADA ที่เป็นแกนหลักของแพลตฟอร์ม ทำหน้าที่บริหารจัดการ เฝ้าติดตามตรวจสอบและควบคุมการทำงานของเครื่องจักรโดยการสื่อสารกับเครื่องจักรผ่านส่วน (2) IoT Interface ซึ่งเป็นส่วน Worker ที่เชื่อมต่อรับส่งข้อมูลโดยอาศัยโปรโทคอลการสื่อสารผ่านทางสายสื่อสารหรือการสื่อสารไร้สายตลอดเวลา ระบบได้รับการออกแบบมาให้สามารถขยายการรองรับโปรโทคอลด้านอุตสาหกรรมอัตโนมัติ อันได้แก่ ModBus, CAN, EtherCAT, OPC-UA ฯลฯ และ ด้าน IoT (Internet of Things) ได้แก่ LoRA, MQTT ฯลฯ ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่จำกัด

   นอกจากนี้ยังได้เพิ่มขีดความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ให้กับ SCADA (Core) โดยพัฒนา (3) Agent ไว้คอยช่วย SCADA คิดตัดสินใจโดยอาศัยกฎความรู้ ในการแจ้งเตือน ในการทำงานอัตโนมัติต่างๆ และการคิดวิเคราะห์แบบ (4) Real-time Agent Communication อีกทั้ง SCADA ที่พัฒนาขึ้นยังสามารถจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลเชิงเรขาคณิตและเชิงพื้นที่ผ่านความสามารถทางด้าน (5) ระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) อีกด้วย

   สำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์ฝั่ง Client เป็นการพัฒนาส่วนแสดงผล User Interface และ การแสดงผล Widget ทั้งแบบ 2 มิติและ 3 มิติ ซึ่งประการหลังอาศัยส่วนแสดงผล 3 มิติ ด้วย (7) VR (Virtual Reality) เมนูการใช้งานโปรแกรมสามารถรองรับการเปลี่ยนภาษาเป็นภาษาต่างประเทศได้หลากหลายไม่จำกัด การปรับเปลี่นเฉดสีของหน้าจอเป็นโทนสีตามที่ผู้ใช้ชื่นชอบ ทั้งหมดนี้ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับ Thai Open SCADA

   ด้วยองค์ประกอบความสามารถมากมายหลายประการของแพลตฟอร์ม Thai Open SCADA ซึ่งได้รับการออกแบบพัฒนาให้เข้ากันได้อย่างลงตัวทั้งหมด และยังสามารถพัฒนาต่อขยายเปิดกว้างได้ในทุกๆส่วน โดยอาศัยซอฟต์แวร์ Open Source ทั้งนี้เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มระบบเปิดของซอฟต์แวร์ SCADA สำหรับกลุ่มบริษัท SME ของไทยที่จะมุ่งพัฒนาไปสู่ Industry 4.0 และที่สำคัญซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มนี้ ยังสามาถติดตั้งใช้งานบนเครื่อง Raspberry Pi 4 ขนาด RAM 8 GB และ storage ขนาด 32 GB ราคาใม่เกิน 3,000 บาท ได้เป็นอย่างดี ซึ่งผลงานการวิจัยและพัฒนานนี้มีศักยภาพที่จะกลายเป็นเครื่องจักรอันสำคัญที่จะนำไปใช้ในการแข่งขันและขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรม SMEs ไทยในโลกยุคหลัง Covid-16 ต่อจากนี้ไป


© Thai Open SCADA. 2021. All rights reserved